เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ยินดีการจับมือ ความว่า ที่ชื่อว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลาย
เล็บ ภิกษุณียินดีการจับอวัยวะบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา เพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการ...จับมุมสังฆาฏิ คือ ยินดีการจับผ้านุ่งหรือผ้าห่มเพื่อจะ
เสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพอสัทธรรม
นั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า สนทนากัน คือ ยืนสนทนาอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ไปที่นัดหมาย ความว่า ภิกษุณีที่ชายสั่งว่า “จงมายังที่ชื่อนี้” แล้ว
ไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างเท้า พอย่างเข้าระยะช่วง
แขนของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการที่ชายมาหา ความว่า ยินดีการที่ชายมาเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ต้องอาบัติทุกกฏ พอย่างเข้าระยะช่วงแขน ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ ความว่า พอย่างเข้าสถานที่ที่ปกปิดด้วยวัตถุอย่างใด
อย่างหนึ่งเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น ความว่า อยู่ในระยะ
ช่วงแขนของชาย น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :22 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 อนาปัตติวาร
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีเมื่อทำวัตถุครบทั้ง 8 ประการย่อม
ไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา1 เปรียบเหมือนต้นตาลยอดด้วนที่ไม่
อาจงอกได้ต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[677] 1. ภิกษุณีไม่จงใจ
2. ภิกษุณีไม่มีสติ

เชิงอรรถ :
1 เมื่อภิกษุณีล่วงละเมิดแต่ละวัตถุ ต้องอาบัติเล็กน้อยดังนี้
1. ในขณะที่เดินทางไปที่นัดหมาย ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างก้าว พอก้าวเข้าสู่
หัตถบาส(ระยะช่วงแขน)ของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
2. ยินดีการที่ชายมา ต้องอาบัติทุกกฏ พอชายก้าวเข้าสู่หัตถบาส ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ส่วนวัตถุที่เหลืออีก 6 คือ
1. ยินดีการจับมือ 2. ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ
3. ยืนเคียงคู่กัน 4. สนทนากัน
5. ตามเข้าไปสู่ที่ลับ 6. น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ปรับอาบัติถุลลัจจัยเท่านั้นสำหรับแต่ละวัตถุ
ภิกษุณีต้องอาบัติถุลลัจจัยเพราะล่วงละเมิดแต่ละวัตถุแล้ว ไม่คิดจะสลัดทิ้ง โดยคิดว่า “เราจะต้อง
อาบัติแม้เพราะวัตถุอื่นอีก” แม้จะแสดง(ปลง)อาบัติก็ไม่เป็นอันแสดง อาบัตินั้นยังสะสมอยู่ เมื่อต้องอาบัติ
ถุลลัจจัยเพราะล่วงละเมิดวัตถุอื่น ๆ ก็เป็นการสะสมอาบัติเรื่อยไป พอเมื่อล่วงละเมิดครบวัตถุทั้ง 8 ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ถ้าภิกษุณีนั้นล่วงละเมิดวัตถุใดวัตถุหนึ่งแล้ว คิดสลัดทิ้งไปว่า “บัดนี้เราจักไม่ต้องอาบัติ”
แล้วแสดง(ปลง)อาบัติ อาบัติถุลลัจจัยนั้นย่อมตกไป ไม่สะสมอยู่ แม้จะล่วงละเมิดวัตถุอื่น ๆ อีกจนครบ
ทั้ง 8 ก็ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะเธอทำการสลัดทิ้งโดยแสดง(ปลง)อาบัติทุกครั้งที่ล่วงละเมิดวัตถุแต่ละ
อย่าง (วิ.อ. 2/676/468, กงฺขา.อ. 345-346)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :23 }